แผนกรังสีวิทยา (Radiology)

แผนกรังสีวิทยา หรือแผนกเอกซเรย์  ให้บริการด้านการตรวจวินิจฉัยโรคโดยใช้รังสีเอกซ์ และคลื่นเสียงความถี่สูง ซึ่งจะช่วยให้เห็นภาพของอวัยวะภายในร่างกายอย่างละเอียด แล้วทำการแปลผลภาพเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรค เช่น กระดูกแตก หัก การติดเชื้อในปอด วัณโรค นิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ ลำไส้อุดตัน เลือดออกในสมอง สมองขาดเลือด ก้อนในเต้านม ทารกในครรภ์ เป็นต้น

การให้บริการของแผนกรังสีวิทยา

การตรวจเอกซเรย์ทั่วไป  (General X-ray) เป็นการตรวจร่างกายที่สามารถทำได้ง่าย ไม่ต้องมีการเตรียมตัวก่อนตรวจ โดยใช้เครื่องเอกซเรย์ฉายรังสีเอกซ์ทะลุผ่านร่างกายของผู้ป่วยไปยังแผ่นรับภาพที่อยู่ด้านหลังอวัยวะ จากนั้นแผ่นรับภาพจะนำสัญญาณที่ได้รับมาแปลงเป็นรูปภาพของอวัยวะนั้น ๆ สามารถใช้ได้กับทุกส่วนของร่างกาย เช่น

กระดูก เพื่อดูสภาพหรือความผิดปกติของกระดูก เช่น การร้าว แตก หัก ข้อเสื่อม การผิดรูป คด งอ

ทรวงอก เพื่อวินิจฉัยโรคของปอด หัวใจ เช่น ปอดบวม วัณโรค มะเร็งปอด หัวใจโต

ช่องท้อง เพื่อวินิจฉัยความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร ทางเดินปัสสาวะ และหาสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย

ข้อควรระวังในการตรวจ ได้แก่

การใช้รังสีเมื่อจำเป็น เนื่องจากการได้รับรังสีแม้จะปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้ง หรือรับรังสีในปริมาณมากอาจส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว เช่น เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง

การคำนึงถึงกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ โดยเฉพาะ 3 เดือนแรก เนื่องจากทารกมีความไวต่อรังสีสูง ดังนั้นหากตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงการเอกซเรย์หรือหากมีความจำเป็นต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบก่อนตรวจ

การเอกซเรย์ฟัน (Dental X-ray) ให้บริการที่แผนกทันตกรรม คล้ายกับการตรวจเอกซเรย์ทั่วไป แต่จะใช้เครื่องเอกซเรย์ที่ใช้สำหรับเอกซเรย์ฟันโดยเฉพาะในการถ่ายภาพฟัน ใช้ในการตรวจหาความผิดปกติของฟัน เช่น ฟันผุ ฟันคุด เป็นต้น

การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed Tomography Scan: CT Scan) เป็นการตรวจระบบอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายเพื่อวินิจฉัยหาความผิดปกติ โดยใช้เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งมีหลักการทำงานที่อาศัยการใช้รังสีเอกซ์ฉายจากหลอดเอกซเรย์ (X-ray tube) ที่อยู่ภายในเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หมุนรอบตัวผ่านอวัยวะที่ต้องการตรวจไปยังหัววัดรังสี (Detector) ที่อยู่ตรงกันข้าม จากนั้นจะมีการแปลงปริมาณรังสีที่ได้ในหัววัดเป็นสัญญาณไฟฟ้า แล้วทำการสร้างภาพด้วยระบบคอมพิวเตอร์เป็นภาพตัดขวางของอวัยวะที่ตรวจ และยังสามารถนำมาสร้างเป็นภาพในระนาบอื่น ๆ รวมถึงภาพ 3 มิติ โดยวิธีการนี้จะได้ภาพที่มีความละเอียดสูงกว่าการเอกซเรย์แบบธรรมดา และสามารถใช้ตรวจอวัยวะภายในร่างกายได้เกือบทุกส่วน

วัตถุประสงค์ของการตรวจ

ตรวจวินิจฉัยอาการป่วย เช่น ตรวจวินิจฉัยความผิดปกติของอวัยวะภายใน ภาวะเลือดออกของอวัยวะภายใน การไหลเวียนของเลือด การเกิดลิ่มเลือด รอยแตกร้าวของกระดูก ภาวะสมองขาดเลือด เนื้องอก เป็นต้น

ติดตามการรักษาอาการป่วย ทั้งในระหว่างการรักษาและหลังการรักษา เช่น ตรวจดูขนาดของก้อนเนื้องอก ตรวจผลหลังการรักษามะเร็ง

ตรวจเป็นแนวทางประกอบการรักษา เช่น ตรวจหาขนาดและรูปร่างของก้อนเนื้อก่อนทำการรักษา

ข้อดีของเครื่อง CT Scan

ให้ข้อมูลของอวัยวะในภาคตัดขวาง (Cross-sectional topographic image) ซึ่งสามารถแสดงรายละเอียดและโครงสร้างของอวัยวะได้ดีกว่าการตรวจเอกซเรย์ทั่วไป และสามารถนำมาสร้างภาพในระนาบอื่นและภาพ 3 มิติได้

ระยะเวลาในการตรวจเร็ว ทำให้สามารถทำการตรวจในผู้ป่วยที่มีอาการสั่น ไม่นิ่งหรือผู้ป่วยที่ไม่ให้ความร่วมมือ

เหมาะสำหรับอวัยวะที่มีการเคลื่อนไหว เช่น บริเวณช่องอก ช่องท้อง

เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่สงสัยเลือดออกในสมองเฉียบพลัน (Acute Hemorrhage) ผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุ (Trauma)

ข้อจำกัดในการตรวจ

กรณีผู้ป่วยหญิงที่กำลังตั้งครรภ์ หากไม่ใช่ในกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน แพทย์ผู้ส่งตรวจควรจะให้ผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ใช้วิธีการอื่นในการตรวจวินิจฉัย เพื่อเลี่ยงไม่ให้รังสีเอกซเรย์ส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์

กรณีผู้ป่วยเด็ก แพทย์ผู้ส่งตรวจต้องให้คำแนะนำแก่ผู้ปกครองถึงการเตรียมตัวก่อนให้เด็กเข้ารับการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพราะหากเด็กยังเล็กมากหรือรู้สึกตื่นกลัวมาก แพทย์จะต้องให้ยาระงับประสาทเพื่อบรรเทาอาการหรือเพื่อให้หลับก่อนการตรวจ

ตรวจเมื่อจำเป็น ควรส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์เมื่อมีเหตุจำเป็นอันสมควรหรือเมื่อผู้ป่วยมีอาการป่วยที่ปรากฏเท่านั้น ไม่ควรใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์เพื่อการคัดกรองเบื้องต้น เพราะเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจากการได้รับรังสีเอกซ์

กรณีที่ต้องฉีดสารทึบรังสี (Contrast media) ต้องพิจารณาโรคประจำตัวบางโรค และผลตรวจเลือด (BUN, Cr., eGFR) ก่อนตรวจ

การเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) เป็นการตรวจทางรังสีบริเวณเต้านมโดยเครื่องสำหรับเอกซเรย์เต้านมโดยเฉพาะ ใช้รังสีเอกซ์พลังงานต่ำถ่ายภาพของเต้านมเพื่อใช้ในการตรวจวินิจฉัยหาความผิดปกติ เป็นการตรวจที่มีการใช้ปริมาณรังสีน้อยกว่าเครื่องเอกซเรย์ทั่วไปแต่ได้ภาพที่มีความละเอียดสูงและคมชัดมากกว่า ทำให้สามารถค้นหาความผิดปกติได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยเฉพาะจุดหินปูนในเต้านม ซึ่งบางครั้งมีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถคลำหรือตรวจด้วย    อัลตราซาวด์พบ ดังนั้นการตรวจเอกซเรย์เต้านมจึงมีประโยชน์อย่างมากในการตรวจหามะเร็งเต้านมขนาดเล็ก

วัตถุประสงค์ของการตรวจ        

เพื่อตรวจหามะเร็งระยะแรกตั้งแต่คลำไม่พบก้อน

เพื่อวินิจฉัยแยกโรคและลักษณะของก้อนที่คลำได้ในเต้านม เพื่อหาตำแหน่งของก้อนเนื้องอก

ช่วงอายุที่เหมาะสมกับการตรวจ

ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป

ผู้ที่มีประวัติในครอบครัวญาติสายตรงทางมารดาเป็นมะเร็งเต้านม ควรได้รับการตรวจเอกซเรย์เต้านม โดยเริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุ 30 ปี

กรณีแพทย์สงสัย

ข้อจำกัดในการตรวจ

ผู้รับบริการที่ตั้งครรภ์ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนการตรวจ เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับรังสีของทารกในครรภ์

ผู้รับบริการที่ยืนไม่ได้หรือนอนติดเตียง ไม่สามารถให้บริการเอกซเรย์เต้านมได้

การตรวจเอกซเรย์พิเศษ (Specialized X-ray) เป็นการเอกซเรย์โดยใช้เครื่องเอกซเรย์ทั่วไปหรือเอกซเรย์ฟลูออโรสโคปร่วมกับการใช้สารทึบรังสี (Contrast media) เพื่อเพิ่มความชัดเจนของอวัยวะที่ต้องการตรวจ โดยปัจจุบันแผนกรังสีวิทยา โรงพยาบาลราชเวช เชียงใหม่ ให้บริการตรวจบางรายการ ได้แก่ การฉีดสารทึบรังสีเพื่อตรวจการทำงานของระบบทางเดินปัสสาวะ (Intravenous pyelography: IVP)

การตรวจอัลตราซาวด์ (Ultrasonography/Ultrasound) การตรวจทางการแพทย์ที่อาศัยคลื่นความถี่สูงเกินความสามารถที่หูมนุษย์จะได้ยิน (1 – 20 MHz) ส่งคลื่นเสียงผ่านหัวตรวจไปยังเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่ต้องการตรวจ เมื่อคลื่นเสียงกระทบกับเนื้อเยื่อร่างกายต่างชนิดกันจะหักเหสะท้อนกลับมาสู่หัวตรวจต่างกันไปตามแต่ชนิดของเนื้อเยื่อ จากนั้นเครื่องอัลตราซาวด์จะนำคลื่นเสียงที่สะท้อนกลับนี้ประมวลผลเป็นภาพบนจอคอมพิวเตอร์

วัตถุประสงค์ของการตรวจอัลตราซาวด์

เพื่อตรวจความผิดปกติทั่ว ๆ ไปหรือเพื่อวินิจฉัยโรค เช่น นิ่วในไต นิ่วในถุงน้ำดี ก้อนเนื้อในตับ การอุดตัน โป่ง หรือขอดของเส้นเลือดดำ/เส้นเลือดแดง เอ็น กล้ามเนื้อ สมองเด็กแรกเกิดถึง 1 ขวบ รวมถึงใช้ตรวจจังหวะการเต้น การบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ ความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจ และเส้นเลือดแดงส่วนต้น เป็นต้น

เพื่อยืนยันกับการตรวจอื่น ๆ เช่น ยืนยันว่าพบก้อนเนื้อ และก้อนเนื้อที่พบเป็นก้อนเนื้อประเภทใด เป็นส่วนของอวัยวะใด หรือติดต่อกับอวัยวะใด

เพื่อติดตามดูความเปลี่ยนแปลงของรอยโรค

ใช้ร่วมกับกระบวนการทางการแพทย์อื่น ๆ  เช่น การตัดชิ้นเนื้อเพื่อนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการที่ต้องใช้ความระมัดระวัง อาจต้องใช้เครื่องอัลตราซาวด์เข้ามาช่วยเพื่อให้แพทย์ได้เห็นภาพอวัยวะบริเวณนั้น ๆ และดำเนินการตัดเนื้อเยื่อได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น

เพื่อตรวจทารกในครรภ์ เช่น เพศ ความผิดปกติ ขนาดของทารกในครรภ์

ข้อดีของการตรวจอัลตราซาวด์

เป็นการตรวจที่ปลอดภัย เพราะไม่ใช้รังสีเอกซ์ คลื่นแม่เหล็กหรือคลื่นวิทยุ และไม่มีการฉีดสารทึบรังสี ดังนั้นจึงสามารถตรวจในหญิงตั้งครรภ์ เด็กทารก และทำการตรวจซ้ำ ๆ ได้บ่อยกว่าการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์และเอ็มอาร์ไอ

เครื่องตรวจอัลตราซาวด์มีขนาดเล็ก เคลื่อนย้ายได้ง่าย จึงสามารถนำไปใช้ได้ทุกสถานที่ ไม่จำเป็นต้องมีห้องหรือเครื่องป้องกันรังสีเอกซ์หรือสนามแม่เหล็กพิเศษ สามารถตรวจข้างเตียงผู้ป่วยได้เลย

การตรวจไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด ไม่จำเป็นต้องฉีดยา หรือมีการผ่าตัดร่วมด้วย

สามารถตรวจได้ทุกเนื้อเยื่อหรืออวัยวะเช่นเดียวกับการตรวจเอกซเรย์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และเอ็มอาร์ไอ แม้ความละเอียดชัดเจนของภาพจะด้อยกว่า แต่ก็ไม่ถึงกับด้อยกว่ามากนัก

เครื่องอัลตราซาวด์สามารถจับภาพเนื้อเยื่อได้ชัดเจนกว่าการตรวจเอกซเรย์ จึงใช้ตรวจอวัยวะต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวาง

ด้วยเทคโนโลยีที่ไม่สูงมาก จึงทำให้การตรวจอัลตราซาวด์มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์และเอ็มอาร์ไอมาก

ข้อจำกัดของการตรวจอัลตราซาวด์

  1. ไม่สามารถใช้ตรวจอวัยวะส่วนที่มีลมได้ เช่น ปอด กระเพาะอาหาร เป็นต้น ทั้งนี้เพราะอากาศจะไม่สะท้อนคลื่นสัญญาณกลับ ทำให้ไม่สามารถรับสัญญาณมาสร้างภาพได้

ไม่สามารถใช้ตรวจอวัยวะที่เป็นกระดูกหรือถูกกระดูกบังได้ เพราะกระดูกจะสะท้อนคลื่นกลับหมด ไม่สามารถทะลุทะลวงลงไปยังอวัยวะต่าง ๆ ได้