ช่วงฤดูฝนนี้ หลายๆท่านคงได้ยินข่าวโรคมือเท้าปากที่กำลังระบาด ผู้ป่วยบางรายเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัสกลุ่มเสี่ยงที่พบบ่อยคือ เด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมักมีอาการรุนแรงมากกว่าเด็กโต โรคนี้ติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากจมูก ลำคอ น้ำลาย และน้ำจากตุ่มใส รวมถึงอุจจาระของผู้ป่วยที่มีเชื้อ และสามารถติดต่อโดยอ้อมจากการสัมผัสของเล่นหรือสิ่งของที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ มือของผู้เลี้ยงดู โดยสถานที่ที่มักพบการระบาดของโรค ได้แก่ สถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียนอนุบาล อาการและภาวะแทรกซ้อนของโรคมือเท้าปากเปื่อย ผู้ป่วยมักมีไข้ประมาณ 2-3 วัน จากนั้นจะมีแผลอักเสบภายในปากร่วมกับมีผื่นแดงหรือตุ่มน้ำใสที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า ซึ่งคุณหมอจะวินิจฉัยโรคนี้จากการตรวจร่างกายพบลักษณะดังกล่าว การรักษา โรคนี้ไม่มียาฆ่าเชื้อ การรักษาจึงเน้นที่การประคับประคองอาการ เช่น ใช้ยาชาป้ายหรือหยอดบริเวณที่เป็นแผลในปาก ให้ยาลดไข้เป็นต้น โดยส่วนใหญ่หากไม่มีอาการแทรกซ้อนอื่นอาการมักหายได้เองภายใน 7-10 วัน ในบางรายที่เพลีย รับประทานอาหารได้น้อยอาจต้องรับการรักษาในโรงพยาบาล อย่างไรก็ตามโรคนี้อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง โดยมักเกิดในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ไปจนถึงเสียชีวิตได้ โดยอาการแทรกซ้อนไม่สัมพันธ์กับจำนวนแผลในปากหรือตุ่มที่พบตามฝ่ามือฝ่า โดยสัญญาณเตือนของภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ทันที เช่นเด็กมีอาการซึมลง ไม่เล่น ไม่อยากรับประทานอาหารหรือนม ปวดศีรษะมาก ซึมลง อาเจียนไอ หายใจเร็ว ดูเหนื่อยๆ หน้าซีด มีเสมหะมาก
บทความโดย แผนกกุมารเวช โรงพยาบาลราชเวช เชียงใหม่