โรคไข้หวัดใหญ่

มารู้จัก”ไข้หวัดใหญ่”กันเถอะ

ไข้หวัดใหญ่ เกิดจาก เชื้อไวรัสอินฟลูเอนซ่า (Influenza Virus) ส่งผลทำให้เกิดอาการมีไข้ ไอ มีน้ำมูก คัดจมูก ปวดเมื่อยตามร่างกาย และอ่อนเพลีย

“ไข้หวัดใหญ่” ติดต่อได้อย่างไร

โรคไข้หวัดใหญ่สามารถแพร่กระจายเชื้อและติดต่อได้ทางการหายใจ ไอ จาม

สัญญาณเตือน “ไข้หวัดใหญ่”

อาการโดยทั่วๆไป จะคล้ายไข้หวัดจากเชื้ออื่นๆทั่วไป แต่มีโอกาสที่อาการจะรุนแรงและเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่า ผู้ป่วยจะมีน้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ มีไข้สูง ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว บางรายอาจมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน หรือถ่ายเหลวร่วมด้วย

“ปิด ล้าง เลี่ยง หยุด” เพื่อปลอดภัยจาก “ไข้หวัดใหญ่”

    • ปิด คือ สวมหน้ากากอนามันทุกครั้ง และปิดปากและปิดจมูก เมื่อไอ หรือจาม
    • ล้าง คือ หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจล
    • เลี่ยง คือ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย
    • หยุด คือ เมื่อป่วยควรหยุดเรียน/ทำงาน แม้มีอาการไม่มาก เพื่อรักษาตัวอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ

“ไข้หวัดใหญ่” ป้องกันได้ด้วยวัคซีน

ไข้หวัดใหญ่มักมีการระบาดมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ดังนั้นเพื่อสร้างความปลอดภัยจากโรคไข้หวัดใหญ่ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่โดยเฉพาะผู้สูงอายุ สตรีตั้งครรภ์ และผู้ป่วโรคเรื้อรังที่ต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหอบหืด โรคตับ ไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด รวมถึงผู้ที่มีปัญหาภูมิคุ้มกันบกพร่อง
โรงพยาบาลราชเวชเชียงใหม่ มีวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลประกอบด้วยไวรัสชนิดเชื้อตาย 4 สายพันธุ์ ใช้สำหรับป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอและชนิดบี จึงเพิ่มความสามารถในการครอบคลุมเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีการระบาด ซึ่งประกอบด้วยไข้หวัดใหญ่ซีกโลกใต้ปี 2020 ดังต่อไปนี้

  1. A/Brisbane/02/2018 IVR-190 (H1N1)
  2. A/South Australia/34/2019 IVR-197 (H3N2)
  3. B/Phuket/3073/2013(B Yamagata lineage)
  4. B/Washington/02/2019(B Victoria lineage)

“ไม่ควร” ฉีดวัคซีน หรือ “ควร” เลื่อนการฉีดวัคซีน
ในกลุ่มใดบ้าง

  1. เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน
  2. ผู้ที่มีมีประวัติแพ้ไก่/ไข่ไก่อย่างรุนแรง
  3. ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่แล้วมีอาการแพ้อย่างรุนแรง
  4. หากมีไข้หรือเจ็บป่วยเฉียบพลันควรเลื่อนการฉีดวัคซีนไปก่อน
  5. กรณีเป็นหวัดเล็กน้อยแต่ไม่มีไข้สามารถรับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้