โรคไข้เลือดออก เกิดจากอะไร ?
เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) ซึ่งมี 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1 DENV-2 DENV-3 และ DENV-4 โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค
อาการของโรคไข้เลือดออก
อาการของโรคไข้เลือดออกจะแตกต่างกันไปแล้วแต่บุคคล แต่โดยส่วนใหญ่ที่พบคือ
โรคไข้เลือด ออกนั้น นอกจากจะมีอาการเช่นเดียวกับโรคไข้เดงกีแล้ว ยังมีอาการอื่นๆ ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรค คือ
- มีไข้สูงเฉียบพลันเกิน 38 องศาเซลเซียส หรืออาจสูงถึง 40-41 องศาเซลเซียส ประมาณ 2-7 วัน ซึ่งบางรายอาจมีชักเกิดขึ้น โดยเฉพาะในเด็กที่เคยมีประวัติชัก
- มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และเบื่ออาหาร
- หน้าแดง อาจพบจ้ำเลือดหรือจุดเลือดออกสีแดงเล็กๆ ตามผิวหนัง หรือมีเลือดออกบริเวณอื่น เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน ปัสสาวะ อุจจาระมีเลือดปน
- มีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง และกดเจ็บบริเวณชายโครงด้านขวา
- ในรายที่มีอาการรุนแรงมาก หลังจากมีไข้มาแล้วหลายวันผู้ป่วยอาจเกิดภาวะการไหลเวียนโลหิตล้มเหลว หรือ ภาวะช็อก และเข้าสู่ระยะที่เรียกว่า กลุ่มอาการไข้เลือดออกช็อก (Dengue Shock Syndrome) โดยผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่าย ปลายมือปลายเท้าเย็น ปัสสาวะน้อยลง ไข้ลดลงอย่างรวดเร็ว ความดันโลหิตลดต่ำ และวัดชีพจรไม่ได้
- ในรายที่รุนแรงอาจมีอาเจียนและถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ซึ่งมักจะเป็นสีดำ (Melena) อาการเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนใหญ่จะพบร่วมกับภาวะช็อก
- บางรายอาจมีภาวะอาการตับโต กดเจ็บ ส่วนใหญ่จะคลำพบ ตับโตได้ประมาณวันที่ 3-4 นับตั้งแต่เริ่มป่วย ตับจะนุ่ม และกดเจ็บ
- สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะช็อก หลังจากมีไข้สูง 2-7 วัน ไข้จะเริ่มลดลง ระบบไหลเวียนโลหิตเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ความดันโลหิตและชีพจรเริ่มคงที่ เมื่อผ่านไป 2-3 วันจึงเข้าสู่ระยะหายเป็นปกติ ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น ไข้ลดลง เริ่มรับประทานอาหารได้ อาการปวดท้องดีขึ้น ระยะนี้มักพบผื่นแดงและคันตามฝ่ามือและฝ่าเท้าซึ่ง จะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์
กลุ่มเสี่ยงเป็นโรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออก สามารถติดได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอายุ แต่หากพูดถึงกลุ่มคนที่อาจจะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นไข้เลือดออกรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น ได้แก่
– กลุ่มคนอ้วน
– กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคธาลัสซีเมีย โรคเลือด โรคไต เป็นต้น
– กลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากกลุ่มนี้อาจจะมีภูมิต้านทานต่ำและมีโรคประจำตัวร่วมหลายโรค
ไข้เลือดออก ป้องกันได้ด้วยวัคซีนไข้เลือดออก ชนิดใหม่
วัคซีนไข้เลือดออก ชนิดใหม่ live-attenuated recombinant dengue2-dengue (Qdenga) ผลิตจากประเทศเยอรมนี สามารถป้องกันต่อเชื้อไวรัสไข้เลือดออก ได้ถึง 4 สายพันธุ์
– สามารถป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ 80.2%
– ลดอัตราการนอนโรงพยาบาล 90.4%
– ฉีดได้ในผู้ที่มีอายุ 4 – 60 ปี ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 2 เข็ม เว้นห่างกัน 3 เดือน
– สามารถฉีดได้ทั้งในผู้ที่เคยและไม่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน
*** สำหรับผู้ที่เคยเป็นโรคไข้เลือดออก สามารถฉีดได้ โดยเว้นระยะห่าง 6 เดือน หลังจากหายโรค
– ไม่จำเป็นต้องตรวจภูมิคุ้มกันก่อนการฉีดวัคซีน
ผลข้างเคียงของวัคซีนไข้เลือดออก ชนิดใหม่
สำหรับผลข้างเคียงของวัคซีนที่พบจะเป็นเพียงผลข้างเคียงทั่วไป ได้แก่ อาการปวดตรงตำแหน่งที่ฉีดวัคซีน ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ โดยส่วนมากมักหายได้เอง ภายในเวลา 1 – 3 วัน
วัคซีนไข้เลือดออก ชนิดใหม่ แตกต่างจากวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกชนิดก่อน อย่างไร ?
สำหรับวัคซีนไข้เลือดออกที่มีจำหน่ายในประเทศไทยมี 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีน Dengvaxia และ วัคซีน Qdenga ซึ่งวัคซีนทั้ง 2 ชนิด มีโครงสร้างกระบวนการผลิตและหลักการในการผลิตของแต่ละประเทศที่มีความแตกต่างกัน ทำให้ประสิทธิภาพ ข้อบ่งใช้ ประสิทธิภาพ ความปลอดภัยของวัคซีน รวมไปถึงจำนวนเข็มและระยะห่างของการฉีดวัคซีนแต่ละเข็มที่แตกต่างกัน
วัคซีน Dengvaxia : วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ชนิดเดิม ผลิตที่ประเทศฝรั่งเศส สามารถป้องกันโรคได้ประมาณ 65.6 % บางคนฉีดวัคซีนแล้วก็ยังเป็นโรคได้ แต่จากการวิจัยพบว่า วัคซีนสามารถลดการเกิดโรคไข้เลือดออกที่รุนแรงได้ และลดอัตราการนอนโรงพยาบาลได้ประมาณ 80.8 % โดยฉีดได้ในผู้ที่มีอายุ 6-45 ปี และฉีดได้เฉพาะคนที่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อนเท่านั้น หากไม่มีประวัติการติดเชื้อยืนยัน ต้องทำการตรวจเลือดก่อนการฉีดวัคซีน
วิธีฉีด ฉีด 3 เข็ม ห่างกัน 6 เดือน (ที่เดือน 0, 6 และ 12)
*เนื่องจากวัคซีนชนิดนี้เป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็น จึงไม่เหมาะกับผู้ที่มีโรคประจำตัวบางโรค ผู้ที่ได้รับยากดภูมิ ได้รับยาเคมีบำบัด ผู้ติดเชื้อ เอชไอวี คนที่มีภูมิคุ้มกันผิดปกติรวมทั้งหญิงตั้งครรภ์
วัคซีน Qdenga : วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ชนิดใหม่ ผลิตที่ประเทศเยอรมนี มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคประมาณสูง 80.2 % และประสิทธิภาพในการป้องกันการนอนโรงพยาบาล 90.4% โดยสามารถฉีดได้ในผู้ที่มีอายุ 4-60 ปี ฉีดได้ทั้งในคนที่เคยและไม่เคยติดเชื้อไข้เลือดออกมาก่อน ทั้งนี้วัคซีนชนิดนี้ยังสามารถฉีดได้โดยที่ไม่ต้องทำการตรวจเลือดก่อนการฉีดวัคซีน สำหรับการฉีดวัคซีน
วิธีฉีด ฉีดเพียง 2 เข็ม ห่างกัน 3 เดือน (ที่เดือน 0 และ 3)
ผู้ที่ไม่สามารถฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก
เนื่องจากวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกเป็นวัคซีนชนิดเชื้อเป็น จึงไม่สามารถฉีดได้กับบุคคล ดังนี้
- ผู้ที่มีภาวะภูมิไวเกินต่อตัวยาสำคัญหรือสารเพิ่มปริมาณยาชนิดใดๆ หรือมีภาวะภูมิไวเกินต่อวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกที่ฉีดไปก่อนหน้านี้
- ผู้ที่มีภาวะการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันผ่านเซลล์บกพร่องมาแต่กำเนิดหรือในภายหลัง รวมถึงผู้ที่ได้รับการบำบัดรักษาด้วยการกดภูมิคุ้มกัน เช่น ได้รับเคมีบำบัด หรือ คอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดออกฤทธิ์ทั่วร่างกายที่ขนาดยาสูง ภายในระยะเวลา 4 สัปดาห์ ก่อนการได้รับวัคซีน
- ผู้ที่มีการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) แบบแสดงอาการ หรือผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) แบบไม่แสดงอาการที่มีหลักฐานแสดงถึงการทำงานของภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- หญิงตั้งครรภ์
- หญิงให้นมบุตร
ติดต่อได้ที่แผนกประชาสัมพันธ์ ชั้น 1 โรงพยาบาลราชเวช เชียงใหม่เบอร์ 052-011999