ภาวะเด็กที่ถูกเร่งรัด (Hurried Child Syndrome)
นพ.สินธิป พัฒนะคูหา แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ประจำโรงพยาบาลราชเวช เชียงใหม่ ท่านผู้อ่านรู้สึกไหมครับว่า เด็กๆ สมัยนี้ทำกิจกรรมไม่เหมือนสมัยเรา เมื่อก่อนเวลาว่างของเราจะหมดไปกับการเล่นด้วยวิธีต่างๆ เช่น ผู้ชายก็วิ่งไล่จับ ยิงนกตกปลา ส่วนผู้หญิงก็เล่นขายของ แต่งตัวตุ๊กตา แต่เด็กๆ สมัยนี้พอมีเวลาว่าง ก็จะถูกผู้ปกครองจับไปเรียนพิเศษสารพัดอย่าง บางคนคิวเต็มเอียดตั้งแต่วันจันทร์ถึงอาทิตย์ วันจันทร์เรียนเลข วันอังคารเปียโน วันพุธภาษาที่สอง วันพฤหัสบดีต่อสู้ป้องกันตัว วันศุกร์ว่ายน้ำ วันเสาร์ทำอาหาร วันอาทิตย์ศิลปะ แค่เขียนก็เหนื่อยแทนแล้วครับ ทั้งนี้ การจัดประสบการณ์ให้บุตรหลานหลากหลายนั้นเป็นเรื่องดี และเกิดจากความหวังดีของผู้ปกครอง (อาจมีความต้องการเวลาส่วนตัวระหว่างเด็กๆ ไปเรียนแถมด้วยนิดหน่อย แต่ทราบไหมครับว่าสิ่งนี้อาจทำให้เกิดภาวะผิดปกติที่เรียกว่า ภาวะเด็กที่ถูกเร่งรัด (Hurried Child Syndrome) กับบุตรหลานของท่านได้โดยไม่รู้ตัว ภาวะเด็กที่ถูกเร่งรัด หมายถึง ภาวะที่เด็กถูกเร่งให้ทำอะไรต่างๆ มากเกินวัย ไม่ว่าจะเป็นด้านการเรียน ด้านดนตรี ด้านกีฬา ด้านสังคม การแต่งตัว และการคบเพื่อน รวมถึงด้านการใช้ชีวิต เช่น ต้องใช้ชีวิตที่มีความรับผิดชอบสูง เด็กเหล่านี้จึงขาดเวลาที่จะได้เป็นตัวของตัวเอง ขาดโอกาสหัวเราะสนุกสนาน ทำให้ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทั้งทางร่างกายและจิตใจ ส่วนใหญ่ของภาวะนี้มักเกิดจากพ่อแม่ผู้ปกครองต้องการชดเชยสิ่งที่ตนเองขาดหายไป เช่น เงินทอง ยศถาบรรดาศักดิ์ จึงเร่งรัดบุตรหลานมากกว่าปกติ เพื่อทำให้ลูกไม่ต้องโตขึ้นมาอยู่ในสภาพเดียวกับตน และเป็นการเพิ่มความภาคภูมิใจของตัวพ่อแม่ผู้ปกครองเอง เช่น พ่อแม่ผู้ปกครองที่ยากจนเร่งรัดบุตรหลานให้ต้องหาเงินทองตั้งแต่ยังเล็ก พ่อแม่ที่มีการศึกษาไม่สูงเร่งรัดบุตรหลานให้เรียนหนังสือเร็วๆ และสูงๆ เป็นต้น อาการของภาวะเด็กที่ถูกเร่งรัด ได้แก่ ประวัติมักจะเริ่มด้วยเด็กเข้าเรียนเร็วกว่าเกณฑ์ เรียนได้หลายอย่าง และทำได้ดีเกินกว่าวัยในช่วงแรก ทำให้เด็กเรียนรู้และพ่อแม่คาดหวังความสำเร็จในตัวเด็ก จึงเกิดแรงกดดันและความเครียดมากเกินวัย ในเวลาต่อมา เมื่อเด็กโตขึ้น ต้องเจอกับบททดสอบที่ยากขึ้น เช่น จากการแข่งขันระดับโรงเรียนเป็นการแข่งขันระดับจังหวัด ถ้าเด็กยังสามารถประสบความสำเร็จต่อไปได้ ก็ยิ่งสั่งสมลักษณะนิสัยอันเกิดจากความเครียดและการชอบการเอาชนะ เด็กมักเป็นคนชอบการแข่งขัน เอาจริงเอาจัง ไม่ร่าเริงแจ่มใส เครียดและหงุดหงิดง่าย เจ้าระเบียบเน้นกฎเกณฑ์มากเกินไป บางครั้งนำไปสู่อาการทางกายที่เกิดจากความเครียด เช่น กระวนกระวายอยู่ไม่สุข ปวดท้องโรคกระเพาะ ปวดศีรษะจากความเครียด เป็นต้น แต่ถ้าเด็กเหล่านี้พบกับความล้มเหลวเป็นครั้งแรก จะเกิดอาการผิดหวังในตัวเอง และแสดงอาการตรงกันข้ามจากนิสัยเดิมๆ ที่เรารู้จัก เด็กอาจจะหมดแรงจูงใจ เบื่อหน่าย ไม่อยากทำกิจกรรมใดๆ เก็บตัว บางครั้งอารมณ์แปรปรวน กระวนกระวาย อาจมีพฤติกรรมก้าวร้าว ต่อต้านสังคม ชอบโกหกร่วมด้วยได้ เกิดการแก้ปัญหาด้วยทางที่ผิด ส่งผลให้พฤติกรรมเสี่ยงทางยาเสพติดและทางเพศตามมา ท้ายที่สุดแล้ว หากไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างถูกต้องและทันท่วงที อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายในที่สุด จะเห็นได้จากข่าวการฆ่าตัวตายในวัยรุ่น มักจะเกิดในเด็กกลุ่มที่มีพฤติกรรมคล้ายภาวะนี้ คือ เป็นเด็กดีที่พบกับปัญหาหรือความผิดหวังแล้วรับมือไม่ได้ มากกว่าเด็กที่เกเรมาตั้งแต่ต้น การแก้ไขและรักษาภาวะนี้ต้องใช้เวลา ความเข้าใจ และความอดทนของพ่อแม่ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ และตัวเด็กไปพร้อมๆ กัน ผู้ใหญ่ต้องเข้าใจถึงข้อเท็จจริงที่ว่า เด็กทุกคนต้องการเวลาในการเติบโตและพัฒนาทั้งร่างกายและจิตใจ ให้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคต ควรเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความรู้สึกและความคิดเห็นอย่างเหมาะสม ไม่บังคับเด็กให้ทำทุกสิ่งทุกอย่างตามความต้องการของผู้ใหญ่เพียงอย่างเดียว ควรเปิดโอกาสให้เด็กเลือกทำงานหรือเรียนในสิ่งที่เด็กสนใจตามสมควร เมื่อเกิดปัญหาแล้ว ควรแสดงความเข้าใจ ห่วงใย ให้คำปรึกษาและพร้อมเข้าไปแก้ปัญหาร่วมกัน บางครั้งอาจต้องถือคติ ถอยหลังหนึ่งก้าว ดีกว่าเดินหน้าตกคลอง การป้องกันภาวะเด็กที่ถูกเร่งรัดทำได้ง่ายกว่าการแก้ไข เพียงพ่อแม่ผู้ปกครองและครูอาจารย์มีความเข้าใจที่พัฒนาการและธรรมชาติของเด็กที่มีความหลากหลายในแต่ละบุคคลและช่วงอายุ จึงไม่ควรกดดัน เร่งรัดเด็กจนมากเกินไป ถ้าธรรมชาติของเด็กทำได้เกินอายุควรให้เด็กได้ร่วมตัดสินใจเลือกทำกิจกรรมด้วยตนเองบ้าง และจัดให้เด็กได้พักผ่อนทางร่างกายและจิตใจให้เพียงพอ รวมทั้งต้องมีระบบค้นหาปัญหาและช่วยเหลือเด็กที่มีความเสี่ยงต่อภาวะนี้อย่างทันท่วงที สุดท้ายคือ ควรปลูกฝังลักษณะนิสัยต่อต้านความเครียดให้กับบุตรหลานของท่าน ได้แก่ ต้องใช้ชีวิตและปรับตัวเข้ากับคนอื่นได้ เข้าสังคมได้, ต้องมีความมั่นใจและภาคภูมิใจในตนเอง, ต้องรู้จักจุดเด่นจุดด้อยของตนเอง พึ่งตนเองได้ ปรับตัวแก้ปัญหาได้, ต้องมีนิสัยมองโลกในแง่ดีตามความเป็นจริง และต้องมีความคิดที่จะทำประโยชน์ให้กับตนเองและผู้อื่น เด็กที่มีลักษณะนิสัยดังกล่าวนี้จะสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในโลกแห่งความจริงได้อย่างมีความสุขกว่าเด็กที่มีความสามารถเฉพาะด้านหลากหลาย แต่ขาดทักษะในการรับมือกับความเครียดดังกล่าว ภาวะเด็กที่ถูกเร่งรัดเป็นภาวะที่เริ่มพบได้บ่อยในปัจจุบัน ภาวะนี้ก่อให้เกิดความเครียดและลักษณะนิสัยเครียดง่ายในเด็ก ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจในระยะยาว ถึงแม้จะมีผลกระทบที่ร้ายแรงไม่น้อย แต่ความรัก ความเข้าใจ และความเอาใจใส่ของพ่อแม่ผู้ปกครองและโรงเรียน รวมถึงการปลูกฝังลักษณะนิสัยต่อต้านความเครียดให้กับเด็กสามารถเป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ไขและป้องกันภาวะนี้ได้เป็นอย่างดีครับ
บทความโดย นพ.สินธิป พัฒนะคูหา แผนก กุมารเวช