โรคภูมิแพ้ในเด็ก

โรคสุดฮิตโรคหนึ่งในช่วงอากาศเปลี่ยน ก็คือโรคภูมิแพ้ ในฉบับที่แล้วเราพูดถึงโพรงจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าแพ้อากาศ) ไปแล้ว วันนี้เราจะมาพูดถึงโรคหืดกันบ้าง (บางท่านเรียกว่า หอบหืด) โรคนี้หลอดลมของผู้ป่วยจะไวต่อสิ่งกระตุ้น (เช่น ควันไฟ, ฝุ่น, การออกกำลังกาย, การติดเชื้อ ฯลฯ) ทำให้เกิดอาการจับหืด คือ ไอ หายใจหอบเหนื่อย หายใจมีเสียงหวีด หรือในบางรายอาจมีอาการไอเรื้อรังโดยไม่มีอาการหอบเหนื่อยก็ได้ครับ โรคหืดเป็นโรคที่เกิดจากหลายปัจจัย ที่สำคัญคือ กรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อม สำหรับการรักษา ได้แก่ การหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นต่างๆ (เช่น ฝุ่น, ควันไฟ, บุหรี่) รวมไปถึงการใช้ยา ซึ่งในช่วงจับหืดนี้การรักษาที่สำคัญคือการพ่นยาขยายหลอดลม ส่วนในรายที่เป็นรุนแรงอาจต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการ หรือใช้ยาฉีดร่วมด้วย การรักษาระยะยาว ในกรณีที่นานๆเป็นครั้งอาจใช้เฉพาะการสูดพ่นยาขยายหลอดลมเวลามีหืดจับ ซึ่งปัจจุบันจะมียาที่สามารถพกติดตัวได้ ส่วนในรายที่จับหืดบ่อย หรือมีอาการรุนแรง ก็จำเป็นจะต้องได้ยาสูดพ่นกลุ่มสเตียรอยด์ต่อเนื่องที่บ้าน ประมาณ 1-2 ปี เพื่อคุมอาการ ส่วนความเชื่อที่ว่าโรคหืดห้ามออกกำลังกายเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องครับ การออกกำลังกายสามารถทำได้ และเป็นสิ่งที่ควรสนับสนุน เพื่อให้ร่างกายและปอดแข็งแรง มีประโยชน์ในระยะยาว ยกเว้นในช่วงที่มีหืดจับ ควรงดการออกำลังกายไปก่อน สรุปว่าโรคหืดนั้นรักษาหายได้ แต่ต้องอาศัยการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง และการรักษาที่ต่อเนื่องครับ

บทความโดย แผนกกุมารเวช โรงพยาบาลราชเวช เชียงใหม่